700
โรคชิคุนกุนยา
โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya disease) เป็นโรคที่ยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันได้ พบว่าเกิดการกลับมาระบาดซ้ำในพื้นที่ภาคใต้ ตอนล่างของไทย โดยโรคดังกล่าวมียุงเป็นภาหะนำโรคเช่นเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก แต่มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เมื่อป่วยหากอาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจนอนซม ปวดข้อจนเดินไม่ได้
*สาเหตุ
1. เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae ไวรัสชิคุนกุนยามีความใกล้ชิดกับ O’nyong’nyong virus และ Ross River virus ที่พบในประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้สมองอักเสบ eastern equine encephalitis และ western equine encephalitis
2. เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้
3. ระยะฟักตัวของโรคโดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน
4. ระยะติดต่อเป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้ป่วยไข้สูง ประมาณวันที่ 2 – 4 เนื่องจากเป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา อยู่ในกระแสเลือดมากที่สุด
*อาการของโรคนี้เป็นอย่างไร
1. ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบ จุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่
2. ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็ก ๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลาย ๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้
3. อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี
4. ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออกบริเวณผิวหนังได้
*ความแตกต่างระหว่างโรคไข้เลือดออกเดงกีกับโรคชิคุนกุนยา
1. ในโรคชิคุนกุนยา ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี ผู้ป่วยมักจะมาโรงพยาบาลเร็วกว่า ส่วนระยะของไข้สั้นกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี ผู้ป่วยที่มีระยะไข้สั้นเพียง 2 วัน พบในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่า ในโรคไข้เลือดออกเดงกีโดยส่วนใหญ่ไข้ลงใน 4 วัน
2. ถึงแม้จะพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวกได้ ส่วนใหญ่จะพบจำนวนทั้งที่เกิดเอง และจากทดสอบน้อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
3. ไม่พบผื่นเลือดออกที่มีลักษณะวงขาวๆในโรคชิคุนกุนยา แต่พบผื่นแบบผื่นแดงนูนราบ และพบอาการตาแดง ในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
4. พบอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปวดข้อในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
5. ในโรคชิคุนกุนยา เนื่องจากไข้สูงฉับพลัน พบการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึงร้อยละ 10-15
*การวินิจฉัยโรคนี้ทำได้อย่างไร
1. ลักษณะอาการ ได้แก่ ไข้สูง ผื่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เลือดออกตามผิวหนัง
2. ตรวจนับเม็ดเลือดพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดปกติ ซึ่งสามารถแยกจากไข้เดงกีได้
3. ตรวจพบแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อในเลือดจากการตรวจปฏิกิริยาน้ำเหลืองสองครั้งด้วยวิธี Haemagglutination Inhibition (HI) โดยระดับแอนติบอดีเพิ่มขึ้น 4 เท่า ถ้าตรวจเลือดครั้งเดียว ต้องพบระดับแอนติบอดีมากกว่า 1: 1,280
4. ตรวจพบภูมิคุ้มกันชนิด IgM โดยวิธี ELISA ตรวจพบเชื้อได้จากเลือด โดยวิธี PCR หรือโดยการแยกเชื้อ
*เมื่อเป็นโรคเเล้วจะทำการรักษาอย่างไร
- ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงสำหรับโรคชิคุนกุนยา ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง เช่น ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน
- ผลการศึกษาวิจัยในระยะหลังพบว่า ยาคลอโรควิน (chloroquin) ได้ผลดีในการบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคชิคุนกุนยา และมีคุณสมบัติต้านไวรัสชิคุนกุนยาได้อีกด้วย
- งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย ใช้ยาคลอโรควินขนาดวันละ 250 มิลลิกรัม พบว่าได้ผลดีมาก เช่นเดียวกับงานวิจัยที่อิตาลี และฝรั่งเศสเมื่อปี 2006 ซึ่งพบว่าการรักษาด้วยยาคลอโรควินได้ผลดีเช่นกัน
*การป้องกันโรคนี้
- การป้องกันโรคชิคุนกุนยาที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด
- ใช้สารไล่ยุง DEET, icaridin, PMD หรือ IR3535
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ติดมุ้งลวดในบ้าน หรือทายากันยุงขณะทำงานและออกนอกบ้าน
- ยาทากันยุงชนิดที่มีส่วนผสมของไพรีธรอยด์ช่วยป้องกันได้พอสมควร
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเฉพาะแหล่งน้ำขัง เริ่มจากในบ้านก่อน ไม่ว่าจะเป็นแจกันดอกไม้ที่ใส่น้ำไว้ ขาตู้ใส่น้ำกันมด ตุ่มใส่น้ำไม่ปิดฝา จากนั้นขยายอกบริเวณรอบบ้าน เช่น ขวดพลาสติก แก้วพลาสติกที่มีน้ำขัง ยางรถยนต์เก่าและแอ่งน้ำตามธรรมชาติ ฯลฯ
- ร่วมมือช่วยกันในชุมชนดูแลไม่ให้เกิดน้ำขังขึ้น จะเห็นได้ว่ามาตราการป้องกันยุงลาย นอกจากจะป้องกันไข้เลือดออกแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคชิคุนกุนยาได้อีกด้วย
*วัคซีน
- ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา
- การศึกษาวิจัยวัคซีนชิคุนกุนยาเมื่อปี 2000 พบว่าวัคซีนที่ใช้ในการวิจัยไม่ได้ผลในการป้องกันโรค เนื่องจากเชื้อชิคุนกุนยา เกิดภาวะต้านวัคซีน มากถึงร้อยละ 98 ภายหลังได้รับวัคซีน 28 วัน
- วัคซีนดีเอ็นเอเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำมาศึกษาการผลิตวัคซีนสำหรับเชื้อชิคุนกุนยา โดยออกแบบเป็นวัคซีนชนิดผสม ใช้ลำดับสารพันธุกรรมของเปลือกหุ้มตัวไวรัส มาเป็นสารกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี ในเบื้องต้นพบว่าได้ผลดีมากในหนูทดลอง ทั้งระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น และสามารถกระตุ้นการทำหน้าที่ของเม็ดเลือดขาวชนิด T cell ได้เป็นอย่างดี