โรคมือ เท้า ปาก หรือ Hand Foot Mouth Disease ที่มีข่าวว่ากำลังระบาดอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ คงสร้างความกังวลใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ไม่ใช่น้อย จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ พบผู้ป่วยแล้วประมาณ 13,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี และยังไม่พบผู้เสียชีวิตในประเทศไทย มาทำความรู้จักโรคนี้ พร้อมเรียนรู้วิธีการป้องกัน เพื่อช่วยกันยับยั้งการระบาดของโรคไม่ให้แพร่กระจายไปยังวงกว้าง
บทความนี้เรียบเรียงจากเอกสารเผยแพร่ของกองควบคุมโรคติตต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำหรับมาตรการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ในโรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็ก และรายละเอียดอื่นๆ ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสาร .doc ได้จากกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
รู้จักโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และคอคซาคีไวรัส (Coxsackievirus) มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต ในผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง
การติดต่อ
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ติดต่อกันได้จากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรคที่มาจากน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย รวมถึงการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายจากการไอ จามของผู้ป่วย หรือการสัมผัสตุ่มพุพองหรือแผลของผู้ป่วย โดยโรคนี้จะมีระยะฟักตัว 3-6 วันหลังจากได้รับเชื้อ
ทั้งนี้ สถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล
อาการของโรค
อาการเริ่มต้นของโรคมือ เท้า ปาก จะคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ประมาณ 2-4 วัน และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จากนั้นจะมีผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมาเกิดผื่นแดงที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ในบางรายอาจพบที่ก้นด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ
โรคมือ เท้า ปาก อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้
การรักษา
โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ แต่จะใช้การรักษาตามอาการที่เป็น เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด
การป้องกัน
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคมือ เท้า ปาก อย่างไรก็ตามผู้ปกครองสามารถป้องกันโรคมือ เท้า ปาก รวมถึงป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้โดย
- หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด
- ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม
- เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
- ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระต้องรีบซักให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ
อ้างอิง: กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
เรียบเรียงโดย: แผนกควบคุมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์